สวนเมืองเลย สวนเมืองเลย

สวนเมืองเลย สวนยางพาราของเกษตรกรมือใหม่หัดปลูก ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย































19 ก.ย. 2553

อนาคตยางพาราสดใสจริงหรือ

อนาคตยางพาราสดใสจริงหรือ? [วันที่ 5 ส.ค. 2551 ]


อนาคตยางพาราสดใสจริงหรือ? *



1. การผลิตและการใช้ยางของโลก

ปริมาณการผลิตยางทั้งหมดของโลกมีทั้งสิ้น 23,769 ล้านตัน แบ่งเป็นยางสังเคราะห์13,661 ล้านตัน และยางธรรมชาติ 10,108 ล้านตัน สัดส่วนปริมาณการผลิตยางทั้งหมดของโลกส่วนใหญ่ร้อยละ 57.47 เป็นยางสังเคราะห์ ที่เหลือร้อยละ 42.53 เป็นยางธรรมชาติ การใช้ยางของโลกเป็นการใช้ยางสังเคราะห์มากกว่ายางธรรมชาติ แนวโน้มการใช้ยางสังเคราะห์มากว่ายางธรรมชาติในสัดส่วนร้อยละ 60 : 40 ซึ่งสัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ใช้ยางส่วนใหญ่สามารถผลิตและส่งออกได้จึงเอื้อต่อการบริหารจัดการในเรื่องของสต๊อกและวัตถุดิบประกอบกับราคายางสังเคราะห์ค่อนข้างมีเสถียรภาพมากกว่ายางธรรมชาติ เนื่องจากผลผลิตมีปัจจัยบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประเทศผู้ส่งออกยางสังเคราะห์ที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส ซึ่งประเทศดังกล่าวเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้และผู้ส่งออกยางสังเคราะห์ ในส่วนยางธรรมชาติผู้ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม และประเทศผู้ใช้ยางธรรมชาติที่สำคัญได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

สถานการณ์การผลิตยางพาราของโลก องค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (International Rubber Study Group : IRSG) คาดว่าในปีการผลิต 2551 จะมีผลผลิตรวม 10.11 ล้านตัน โดยไทยผลิตได้มากที่สุด ประมาณ 3.01 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 30.65 ของปริมาณการผลิตโลก รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย การบริโภคยางของโลกคาดว่าจะมีปริมาณ 9.99 ล้านตัน โดยประเทศที่มีการบริโภคยางมากที่สุด คือ จีน รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย

การผลิตยางธรรมชาติของไทยในปี 2551 คาดว่าจะมีพื้นที่กรีดยางทั้งหมด 11.154 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 3.193 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 286 กิโลกรัม ซึ่งยางที่ผลิตได้ในประเทศจะส่งออกประมาณร้อยละ 90 ของผลผลิต ที่เหลือร้อยละ10 ใช้บริโภคภายในประเทศ ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้



2. ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

ปัจจัยเชิงบวก

1. การคาดการณ์แนวโน้มอุปทานยางพาราของโลกลดลง ขณะที่อุปสงค์มีการขยายตัว ทั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพื่อทดแทนยางสังเคราะห์ซึ่งใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเพิ่มขึ้น (โดยคาดว่าหากราคาน้ำมันดิบเปลี่ยนแปลงไปร้อยละ 1 จะส่งผลให้ราคายางพาราเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันร้อยละ 0.75) ผลจากการคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานส่งผลให้ราคายางพาราในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั้งตลาดไทย (AFET) ตลาดสิงคโปร์ (SICOM) และตลาดญี่ปุ่น (TCOM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (โดยคาดว่าหากราคายางพาราในตลาด TCOM เปลี่ยนแปลงไปร้อยละ 1 จะส่งผลให้ราคาส่งออกยางพาราไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันร้อยละ 0.67)

2. การขยายตัวของเศรษฐกิจและประชากรโลกส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอื่น ๆ เช่น ถุงมือยาง กระเบื้องปูพื้น ยางรัดของ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้ของประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งมีความต้องการใช้มากรวมกันคิดเป็นร้อยละ 54 ของความต้องการใช้ทั้งโลก (โดยคาดว่า หากความต้องการใช้ของจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เปลี่ยนแปลงไปร้อยละ 1 จะส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันร้อยละ 0.3 0.5 และ 0.2 ตามลำดับ)

3. นโยบายส่งเสริมการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของภาครัฐโดยมีเป้าหมายการเพิ่มการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นใน 5 ปีข้างหน้าอยู่ที่ปริมาณ 6 แสนตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของผลผลิตทั้งหมด จากเดิมที่มีการใช้เพียงประมาณ 3.2 – 3.4 แสนตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของผลผลิตทั้งหมด

4. สภาพภูมิอากาศโลกที่มีความแปรปรวน ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งเป็นเวลานาน และในขณะเดียวกันฝนตกชุกมากกว่าปกติ โดยส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตยางพาราไม่สามารถกรีดยางได้หรือปริมาณน้ำยางลดลง

ปัจจัยเชิงลบ

1. แนวโน้มอุปทานยางพาราเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการขยายตัวของพื้นที่กรีดยางพารา เนื่องจากราคายางพาราอยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต นอกจากนี้ภาครัฐยังมีโครงการสนับสนุนปลูกยางพาราเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรในแหล่งปลูกใหม่อีก 1 ล้านไร่ ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ยังมีการขยายพื้นที่ปลูกยางด้วยเช่นกัน

2. ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นนอกจากจะส่งผลดีต่อราคายางพาราดีแล้ว ในขณะเดียวกันอาจเป็นปัจจัยลบต่อยางธรรมชาติด้วยจากการที่อุตสหกรรมยายนต์ชะลอตัวลงอันเป็นผลมาจากการใช้รถยนต์หดตัวลงและส่งผลให้ราคายางพาราอ่อนตัวลงได้ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันราคายางแผ่นรมควันที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 92 บาท ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้ยางพาราที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง การเก็งกำไรในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า และการกระตุ้นของภาครัฐในการส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น คาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2551 – 2554) ราคายางแผ่นรมควันที่เกษตรกรขายได้จะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 85 – 95 บาท และหลังจากปี 2555 ราคายางแผ่นรมควันที่เกษตรกรขายได้จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 – 80 บาท เนื่องจากปริมาณผลผลิตยางพาราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากพื้นที่กรีดยางได้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้แก่ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ที่จะสามารถเปิดกรีดได้เพิ่มเช่นกัน ทั้งนี้ แนวโน้มการผลิตและการใช้ยางของโลกเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก



3. การสัมภาษณ์คุณประยงค์ รณรงค์

ผู้ก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางตำบลไม้เรียง และเป็นเกษตรกรไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาพัฒนาชุมชน ปี2547



ปัจจุบันราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีมาก คือ กิโลกัรมละ 100 บาท เนื่องจากความต้องการของประเทศผู้ใช้ในตลาดโลกมีมาก ประกอบกับราคาน้ำมันปิโตเลียมที่สูงขึ้น ส่งผลให้ยางสังเคราะห์มีราคาสูง ดังนั้นความสามารถในการแข่งขันของยางสังเคราะห์จึงลดน้อยลงเมื่อเทียบกับยางพารา ละคาดว่าราคายางพาราในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีข้างหน้า (ปี 2551-2555) จะอยู่ในระดับ 80-100 บาท/กก. หรือสูงกว่านี้ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการเร่งเพิ่มพื้นที่การปลูกยางในทุกภาคของไทย เช่น ภาคใต้พื้นที่ที่เคยทำนา และปลูกผลไม้ได้เปลี่ยนมาปลูกยางพาราแทน ภาคตะวันออกจากพื้นที่ปลูกผลไม้ได้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกยางพาราเช่นเดียวกัน และภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เพิ่มพื้นที่เช่นกัน นอกจากนี้ประเทศผู้ผลิตยางทั้ง 24 ประเทศได้เร่งเพิ่มพื้นที่การปลูกยางด้วย โดยเฉพาะอิโดนีเซีย ได้มีขยายพื้นที่ปลูกอย่างมาก และมีโครงการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้มีพื้นที่ปลูกยางพารารวมของอินโดนีเซียมากกว่าไทย 2 เท่า ทำให้โอกาสการแข่งกับไทยมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ดังนั้นคาดว่าในอนาคต 3-4 ปีข้างหน้าอินโดนีเซียอาจเป็นประเทศผู้ส่งออกยางมากที่สุดในโลกแทนไทย นอกจากนี้ ประเทศจีนได้เพิ่มพื้นที่ปลูกยางทุกพื้นที่ที่สามารถปลูกยางได้เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศและลดการนำเข้า นอกจากนั้นได้ไปลงทุนปลูกยางในประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ ลาว พม่า และเวียดนามโดยมีการแบ่งรายได้ระหว่างผู้ลงทุน (จีน) กับประเทศผู้ปลูก( ลาว พม่า และเวียดนาม) ในอัตราร้อยละ 60 : 40 ดังนั้นในอีก 5-6 ปีข้างหน้า (ปี 2556-2557) ถ้าพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดสามารถเปิดกรีดได้ ผลผลิตยางพาราของโลกจะมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ประกอบกับในอนาคตยังไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณการใช้ยางของโลกและภาวะเศรษฐกิจของโลกว่าจะเป็นเช่นไร

ดังนั้นในอีก 5 – 6 ปีข้างหน้าหากยังไม่มีการจัดการกับผลผลิตยางพาราที่จะเพิ่มขึ้น ปัญหาที่จะตามมาอย่างแน่นอนคือ ราคายางพาราที่อาจจะตกต่ำเหลือเพียง 40-50 บาท/กก. นั่นหมายความว่า เกษตรกรจะประสบกับภาวะขาดทุนและส่งผลต่อรายได้และค่าใช้จ่าย เนื่องจากในปัจจุบันราคายางที่เกษตรกรขายได้มีราคาสูงทำให้เกษตรกรขาดความระมัดระวังในการใช้จ่าย และท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องเข้ามาแก้ไข แต่ถ้าราคายางในอนาตคยังคงอยู่ที่กิโลกัมละ 100 บาท ก็จะเป็นโชคดีของเกษตรกรไทย

ที่มา  http://www.pandinthong.com/ViewContent.php?ContentID=399

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น